เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[168] พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์
ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก
ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[169] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา
เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก
มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่
(พญาหงส์โพธิสัตว์ ทูลถามว่า)
[170] แคว้นมิได้ถูกเบียดเบียน
มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหน ๆ หรือ
พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ
โดยมิได้เกรี้ยวกราดหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[171] แคว้นก็มิได้ถูกเบียดเบียน
มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหน ๆ เลย
เราปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ
โดยมิได้เกรี้ยวกราดเลย
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[172] สัตบุรุษพระองค์ทรงยำเกรง
ทรงเว้นอสัตบุรุษเสียห่างไกลหรือ
พระองค์มิได้ทรงห่างเหินธรรม
ประพฤติคล้อยตามอธรรมหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :111 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[173] สัตบุรุษเราก็ยำเกรง
อสัตบุรุษเราก็เว้นห่างไกล
เราประพฤติคล้อยตามธรรมเหล่านั้น
ส่วนอธรรมเราได้ห่างเหินไปแล้ว
(พญาหงส์ทูลถามว่า)
[174] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์
พระองค์มิได้ทรงพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานหรือ
ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ไม่ทรงสะดุ้งกลัวปรโลกหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[175] เราพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานก็หาไม่
พญาหงส์ เราดำรงอยู่ในธรรม 10 ประการ1
จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก

[176] คือ 1. ทาน 2. ศีล
3. การบริจาค 4. ความซื่อตรง
5. ความอ่อนโยน 6. ความเพียร
7. ความไม่โกรธ 8. ความไม่เบียดเบียน
9. ความอดทน 10. ความไม่คลาดธรรม1


เชิงอรรถ :
1 ธรรม 10 ประการ คือทศพิธราชธรรม 10 ประการ คือ (1) ทาน หมายถึงเจตนาให้วัตถุ 10 ประการ
มีข้าวและน้ำเป็นต้น (2) ศีล หมายถึงศีล 5 ศีล 10 (3) การบริจาค หมายถึงการบริจาคไทยธรรม
(4) ความซื่อตรง หมายถึงความเป็นคนตรง (5) ความอ่อนโยน หมายถึงความเป็นคนอ่อนโยน
(6) ความเพียร หมายถึงกรรมคือการรักษาอุโบสถ (7) ความไม่โกรธ หมายถึงความมีเมตตาเป็นเบื้องต้น
(8) ความไม่เบียดเบียน หมายถึงความมีกรุณาเป็นเบื้องต้น (9) ความอดทน หมายถึงความอดกลั้น
(10) ความไม่คลาดจากธรรม หมายถึงความไม่ขัดเคือง (ขุ.ชา.อ. 28/176/261)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :112 }